สถานีหัวลำโพง (อังกฤษ: Hua Lamphong Station, รหัส HUA) เป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่ถนนพระรามที่ 4 กรุงเทพมหานคร บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เนื่องจากเป็นสถานีปลายทางและเพื่อรำลึกถึงกิจการรถไฟในประเทศไทย จึงใช้สถานีหัวลำโพงเป็นสถานที่ทำพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการ และทำพิธีเปิดการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล นอกจากนี้ยังมีส่วนจัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับความเป็นมาของโครงการรถไฟฟ้ามหานครอยู่ภายในสถานี
ถนนพระรามที่ 4 บริเวณแยกหัวลำโพง จุดบรรจบ ถนนพระรามที่ 4, ถนนรองเมือง, ทางขึ้นทางด่วนหัวลำโพง และ ถนนมหาพฤฒาราม ในพื้นที่แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน และแขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร
สำหรับที่ตั้งของสถานีหัวลำโพง นอกจากมีความโดดเด่นจากการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นต้นทางหลักของรถไฟทางไกลทั่วประเทศแล้ว ยังอยู่ใกล้กับย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน บริเวณสามแยก (ห้าแยกหมอมี), ตลาดน้อย และวงเวียนโอเดียน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของถนนเยาวราช หรือ "ไชน่าทาวน์" ของเมืองไทย ทำให้สถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพงเป็นอีกหนึ่งสถานี ที่มีบทบาทสำคัญด้านการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ และในขณะนี้ที่ระบบรถไฟฟ้ายังครอบคลุมไปไม่ถึงพื้นที่เมืองเก่าบริเวณเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ สถานีหัวลำโพงก็ยังมีความสำคัญเดินทางของผู้โดยสารในย่านเมืองเก่า เช่น เยาวราช คลองถม พาหุรัด ปากคลองตลาด ซึ่งโดยสารรถประจำทางมาเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินออกสู่พื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะด้านตะวันออก เพราะในปัจจุบันสถานีหัวลำโพงถือได้ว่าเป็นสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ใกล้กับเขตเมืองเก่ามากที่สุด เพียงถัดจากคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นคูเมืองชั้นนอกสุดของกรุงเทพฯ บริเวณสะพานเจริญสวัสดิ์ 36
โดยปัจจุบัน (พ.ศ. 2558) สถานีหัวลำโพงยังคงเป็นสถานีปลายทางในระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล แต่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค โดยหลังจากนี้ชานชาลาที่ 1 ที่มุ่งหน้าไปสถานีหลักสอง จะลดระดับกลายเป็นชานชาลาแบบสองชั้นเหมือนเดิม เนื่องจากยังคงวิ่งเลียบถนนพระรามที่ 4 อยู่ และจะลดระดับลงไปเรื่อยๆ จนถึงความลึกที่ 40 เมตร เพื่อลอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วยกระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาขึ้นพ้นระดับใต้ดินที่บริเวณสถานีอิสรภาพ ก่อนมุ่งหน้าเข้าสู่สถานีท่าพระ
และในอนาคต สถานีหัวลำโพงจะเชื่อมต่อกับ สถานีหัวลำโพงอีกแห่งในบริเวณสถานีหัวลำโพง ของโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มอีกด้วย
ปัจจุบันชานชาลาสถานีหัวลำโพงจะเปิดใช้เพียงชานชาลาที่ 1 เพียงชานชาลาเดียว ผู้โดยสารที่จะโดยสารไปยังสถานีบางซื่อจะใช้ชานชาลาร่วมกับผู้โดยสารที่เดินทางมาจากสถานีรายทาง โดยผู้โดยสารที่จะโดยสารไปยังสถานีบางซื่อจะต้องรอจนกว่าผู้โดยสารที่มาจากสถานีรายทางออกจากขบวนรถ และรอให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบสภาพรถไฟฟ้าให้เรียบร้อยเสียก่อน
แต่เมื่อการก่อสร้างส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแคแล้วเสร็จ จะมีการเดินรถโดยจะใช้ชานชาลาที่ 2 เพื่อจอดเทียบขบวนรถที่มาจากสถานีวัดมังกรกมลาวาส มุ่งหน้าสถานีบางซื่อ
หมายเหตุ : ชานชาลา 2 ถึงจะเปิดให้บริการ แต่ตอนนี้ใช้เพื่อให้ผู้โดยสารที่มาจากสถานีบางซื่อลงจากรถ และไม่รับผู้โดยสาร
ตราสัญลักษณ์เป็นรูปทรงครึ่งวงกลมของอาคารสถานีรถไฟหัวลำโพง โดยมีรูปทรงปกติอยู่เหนือเงาสะท้อนรูปหัวกลับ ใช้สีแดงเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นย่านธุรกิจ หรือตลาด
เป็นสถานีใต้ดิน กว้าง 23 เมตร ยาว 206 เมตร ระดับชานชาลาอยู่ลึกจากผิวดิน 14 เมตร เป็นชานชาลาแบบกลาง (Station with Central Platform)
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สถานีหัวลำโพง_(รถไฟฟ้ามหานคร)